บทที่ 2 เอกสารที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 2
การศึกษาเอกสารอ้างอิง

1.นิทานเวตาลเรื่องที่ 10 ฉบับพระนิพนธ์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยายาลงกรณ

ความเป็นมา
          วรรณกรรมสันสกฤตของอินเดีย  โดยมีชื่อเดิมว่า “เวตาลปัญจวิงศติ”  ศิวทาสได้แต่งไว้ในสมัยโบราณ ต่อมาได้มีผู้นำนิทานเวตาลทั้งฉบับภาษาสันสกฤตและภาษาฮินดีมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยร้อยเอก เซอร์ ริชาร์ด เอฟ. เบอร์ตัน  ก็ได้นำมาแปลและเรียบเรียงแต่งแปลงเป็นสำนวนภาษาของตนเองให้คนอังกฤษอ่าน แต่ไม่ครบทั้ง 25 เรื่อง กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ได้ทรงแปลนิทานเวตาลจากฉบับของเบอร์ตัน จำนวน 9 เรื่อง และจากฉบับแปลสำนวนของ ซี. เอช. ทอว์นีย์   อีก 1 เรื่อง รวมเป็นฉบับภาษาไทยของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ 10 เรื่อง เมื่อ พ.ศ. 2461
          นิทานเวตาลเป็นนิทานที่มีลักษณะเป็นนิทานซับซ้อนนิทาน คือ มีนิทานเรื่องย่อยซ้อนอยู่ในนิทานเรื่องใหญ่

ประวัติผู้แต่ง
          พระราชวรวงศ์เธอ   กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงชำนาญด้านภาษาและวรรณคดีเป็นพิเศษ ได้นิพนธ์หนังสือไว้มากมายโดยใช้พระนามแฝงว่า “ น.ม.ส.” ซึ่งทรงเลือกจากตัวอักษรตัวหลังพยางค์ของพระนาม (พระองค์เจ้า) “รัชนีแจ่มจรัส
          พระนามแฝงว่า “ น.ม.ส.”  เป็นที่รู้จักกันดีในนามนักเขียนและกวีโวหารพิเศษ คือ คมคายและขบขัน เมื่อทรงเขียนเรื่องชีวิตของนักเรียนเมืองอังกฤษ ลงในหนังสือวชิราญาณครั้งแรก ผู้อ่านก็ชอบใจทันที เพราะมีความแปลกใหม่ทั้งในแนวเขียนแนวคิด ความชำนาญทางภาษายอดเยี่ยม จึงได้ทรงรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสูงทางคุณวุฒิหลายครั้ง เช่น องคมนตรี สภานายก ราชบัณฑิตยสถาน เป็นต้น
          พระองค์ได้ทรงตั้งโรงพิมพ์และมีกิจกรรมพิมพ์ส่วนพระองค์ที่ถนนประมวญ และทรงออกหนังสือเครือประมวญ ชื่อประมวญวัน และประมวญมารค
          งานพระนิพนธ์มีทั้ง 2 ประเภท ดังนี้
ประเภทร้อยแก้ว จดหมายจางวางหร่ำ นิทานเวตาล สืบราชสมบัติ ตลาดเงินตรา พระนางฮองไทเฮา และที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ได้แก่ บทความหน้า 5 ในหนังสือประมวญวัน
ประเภทร้อยกรอง ได้แก่ กนกนครคำกลอน พระนลคำฉันท์ สามกรุง

ลักษณะคำประพันธ์
          นิทานเวตาล แต่งเป็นร้อยแก้ว    โดยนำทำนองเขียนร้อยแก้วของฝรั่งมาปรับเข้ากับสำนวนไทยได้อย่างกลมกลืน และไม่ทำให้เสียอรรถรส แต่กลับทำให้ภาษาไทยมีชีวิตชีวา จึงได้รับยกย่องเป็นสำนวนร้อยแก้วที่ใหม่ที่สุดในยุคนั้น เรียกว่า “สำนวน น.ม.ส.

เนื้อเรื่อง
          เวตาลกล่าวว่า ครั้งนี้ข้าพเจ้าเขม่นตาซ้ายหัวใจเต้นแรง แลตาก็มืดมัวเป็นลางไม่ดีเสียแล้ว  แต่ข้าพเจ้าก็จะเล่าเรื่องจริงถวายอีกเรื่องหนึ่ง แลเพราะเหตุข้าพเจ้าเบื่อหน่ายการถูกแบกสะพายไปมาเป็นหลายเที่ยวแล้ว แม้พระองค์ไม่ทรงเบื่อเป็นผู้แบกก็จริง ข้าพเจ้าจะตั้งปัญหาที่ยากทูลถามสักที ถ้าทรงตอบได้ พระปัญญาก็มากยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะมีในพระราชาพระองค์ใด
           ในโบราณกาล มีเมืองที่ใหญ่เมืองหนึ่งชื่อ กรุงธรรมปุระ พระราชาทรงนามท้าวมหาพล มีมเหสีซึ่งแม้มีพระราชธิดาจำเริญวัยใหญ่แล้วก็ยังเป็นสาวงดงาม ถ้าจะเปรียบเทียบกับพระราชบุตรีก็คล้ายพี่กับน้องมากกว่าแม่กับลูก ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะพระราชธิดามีอาการแก่เกินอายุ ที่จริงเป็นด้วยพระราชมารดาเป็นสาวไม่รู้จักแก่ แลความสาวของพระนางเป็นเครื่องประหลาดของคนทั้งหลาย
          เมื่อท้าวมหาพลจะสิ้นบุญนั้น เกิดศึกขึ้นที่กรุงธรรมปุระ ข้าศึกมีกำลังมากแลชำนาญการศึก ใช้ทั้งทองคำแลเหล็กเป็นอาวุธ คือ ใช้ทองคำซื้อน้ำใจนายทหารและไพร่พลของพระราชาให้เอาใจออกห่างจากพระองค์ แลใช้เหล็กเป็นอาวุธฆ่าฟันคนที่ซื้อน้ำใจไม่ได้ ข้าศึกใช้ทองคำบ้าง เหล็กบ้างเป็นอาวุธดังนี้ จนในที่สุดรี้พลของท้าวมหาพลหรอร่อยย่อยยับไป ท้าวมหาพลเห็นจะรักษาชีวิตของพระองค์ไว้ไม่ได้ด้วยวิธีรบ ก็คิดจะรักษาชีวิตด้วยวิธีหนี จึ่งพาพระมเหสีแลพระราชธิดาออกจากกรุงไปในเวลาเที่ยงคืนจำเพาะสามพระองค์ พระราชาทรงพานางทั้งสองเล็ดรอดพ้นแนวทัพข้าศึกไป แล้วก็ตั้งพระพักตร์มุ่งไปยังเมืองซึ่งเป็นเมืองเดิมของพระมเหสี
          วันรุ่งขึ้น พระราชาทรงนำนางทั้งสองเดินไปจนเวลาสาย ถึงสองทุ่งเห็นหมู่บ้านหมู่หนึ่งแต่ไกล ไม่ทรงทราบว่าเป็นหมู่บ้านโจร แต่ทรงสงสัยไม่วางพระหฤทัย จึงตรัสให้พระมเหสีแลพระราชธิดาหยุดกำบังอยู่ในแนวไม้ พระองค์ทรงถืออาวุธเดินตรงเข้าไปสู่หมู่บ้าน เพื่อจะอาหารเสวยแลสู่นางทั้งสองพระองค์
          ฝ่ายพวกภิลล์ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านนั้นประพฤติตัวเป็นโจรอยู่โดยปกติ ครั้นเห็นชายคนเดียวแต่งตัวด้วยของมีค่าเดินเข้ามาเช่นนั้น ก็คุมกันออกมาจะชิงทรัพย์ในพระองค์ พระราชาท้าวมหาพลทรงเห็นดังนั้นก็ทรงพระแสงธนูยิงพวกโจรล้มตายลงเป็นอันมาก ฝ่ายนายโจรได้ทราบว่าผู้มีทรัพย์มาฆ่าฟันพวกตนลงไปเป็นอันมากดังนั้น ก็กระทำสัญญาเรียกพลโจรออกมาทั้งหมดแล้วเข้าล้อมรบพระราชา ท้าวมหาพลองค์เดียวเหลือกำลังจะต่อสู้ป้องกันอาวุธพวกโจรได้ก็สิ้นพระชนม์ลงในที่นั้น พวกภิลล์ก็ช่วยกันเข้าปลดเปลื้องของมีค่าออกจากพระองค์ แล้วพากันคืนเข้าสู่บ้านแห่งตน
          ฝ่ายมเหสีแลพระราชธิดาทรงแอบอยู่ในแนวไม้ เห็นพวกโจรเข้ากลุ้มรุมรบพระราชาก็ตกใจเป็นกำลัง แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ ครั้นเห็นพวกภิลล์ทำลายพระชนม์พระราชาลงไปแล้ว สองนางพระองค์สั่นพากันหนีห่างออกไปจากหมู่บ้านโจร ทางจะไปทางไหนหาทราบไม่ ความมุ่งมาดมีอยู่แต่ว่าจะหนีให้พ้นมือพวกภิลล์ซึ่งเป็นคนชาติต่ำช้าเท่านั้น นางทั้งสองทรงกำลังน้อยแต่อำนาจความกลัวพาให้เสด็จไปเป็นทางถึง 5 โกรศ อ่อนเพลียพระกำลังทรงดำเนินต่อไปไม่ได้ก็หยุดพักอยู่ใต้ร่มไม้ริมทาง
          เผอิญมีพระราชาอีกพระองค์หนึ่งทรงนามท้าวจันทรเสน เสด็จออกยิงสัตว์ป่ากับพระราชบุตรจำเพาะสองพระองค์ กษัตริย์ทั้งสองทรงม้าไปตามแนวป่า เห็นรอยเท้าหญิงสองคนก็ทรงชักม้าหยุดดู
               พระราชบิดาตรัสว่า “รอยเท้าหญิงสองคนทำไมอยู่ในป่าแถบนี้”
          พระราชบุตรทูลว่า “รอยเท้าเหล่านี้เป็นรอยเท้าหญิงสองคน รอยเท้าชายคงจะโตกว่านี้”
          พระราชาตรัสว่า “เจ้าของรอยเท้าเหล่านี้เป็นหญิงอย่างเจ้าว่า แลน่าประหลาดที่มีหญิงมาเดินอยู่ในป่า แต่ถ้าจะพูดตามเรื่องในหนังสือ หญิงที่พระราชาพบในป่ามักจะงามกว่าหญิงที่ที่จะหาได้ในกรุง เหมือนดอกไม้ป่าที่งามกว่าดอกไม้ในสวน มาเราจะตามนางทั้งสองนี้ไป ถ้าพบนางงามจริงดังว่า เจ้าจงเลือกเอาเป็นเมียคนหนึ่ง”
          พระราชบุตรทูลตอบว่า “รอยเท้านางทั้งสองนี้มีขนาดไม่เท่ากัน แม้เท้ามีขนาดย่อมทั้งสองนางก็ยังใหญ่กว่ากันอยู่คนหนึ่ง ข้าพเจ้าจะเลือกนางเท้าเล็กเป็นภริยาข้าพเจ้า เพราะคงจะเป็นสาวน้อยตามขนาดแห่งเท้า ส่วนนางเท้าเขื่องนั้นคงจะเป็นสาวใหญ่ ขอพระองค์ทรงรับไปไว้เป็นพระราชชายา”
          ท้าวจันทรเสนตรัสว่า “เหตุไฉนเจ้าจึงกล่าวดังนี้ พระราชมารดาของเจ้าสิ้นพระชนม์ไปไม่กี่วัน เจ้าจะอยากมีแม่เลี้ยงเร็วเท่านี้เจียวหรือ”
          พระราชบุตรทูลตอบว่า “ขอพระองค์อย่ารับสั่งเช่นนั้น เพราะบ้านของผู้ใหญ่ในครอบครัวนั้น ถ้าไม่มีแม่เรือนก็เป็นบ้านที่ว่าง อนึ่งพระองค์ย่อมจะทรงทราบคาถาซึ่งมูลเทวะบัณฑิตแต่งไว้ มีความว่า ชายผู้ไม่ใช่คนโง่ ไม่ยอมคืนสู่เรือนซึ่งไม่มีนางที่รักผู้มีรูปงามคอยรับรองในขณะที่กลับถึงเรือนนั้น แม้เรียกว่าเรือนก็ไม่ใช่อื่น คือคุกซึ่งไม่มีโซ่เท่านั้นเอง พระองค์ย่อมทรงทราบด้วยพระองค์เองว่า ความสุขแห่งพ่อบ้านซึ่งอยู่โดดเดี่ยวนั้นมีไม่ได้ในบ้าน แลมีไม่ได้นอกบ้าน เพราะไม่มีหวังจะได้ความสุขเมื่อกลับมาสู่เรือนแห่งตน”
               ท้าวจันทรเสนทรงนิ่งตรองอยู่ครู่หนึ่ง แล้วตรัสตอบพระราชบุตรว่า
               “ถ้านางเท้าเขื่องมีลักษณะเป็นที่พึงใจ ข้าก็จะทำตามเจ้าว่า”
               ครั้นกษัตริย์ทั้งสององค์ทรงกระทำสัญญาแบ่งนางกันดังนี้แล้ว ก็ทรงชักม้าตามรอยเท้านางเข้าป่าไป
          สักครู่หนึ่งเห็นสองนางนั่งพักอยู่ใต้ร่มไม้ กษัตริย์สององค์ก็เสด็จลงจากม้าเข้าไปถามนาง ทั้งสองนางก็เล่าเรื่องให้ทรงทราบทุกประการ
          พระราชากับพระราชบุตรก็เชิญนางทั้งสองขึ้นหลังม้าองค์ละองค์ นางพระบาทเขื่องคือพระราชธิดาขึ้นทรงม้ากับท้าวจันทรเสน นางพระบาทเล็กคือพระมเหสีขึ้นทรงม้ากับพระราชบุตร สี่องค์ก็เสด็จเข้ากรุง
          กล่าวสั้นๆ ท้าวจันทรเสนแลพระราชบุตรก็ทำการวิวาหะทั้งสองพระองค์ แต่กลับคู่กันไป คือพระราชบิดาทรงวิวาหะกับพระราชบุตรี พระราชบุตรทรงวิวาหะกับพระมเหสี แลเพราะเหตุที่คาดขนาดเท้าผิด ลูกกลับเป็นเมียพ่อ แม่กลับเป็นเมียลูก ลูกกลับเป็นแม่เลี้ยงของผัวแม่ตนเอง แลแม่กลับเป็นลูกสะใภ้ของผัวแห่งลูกตน
               แลต่อมาบุตรแลธิดาก็เกิดจากนางทั้งสอง แลบุตรธิดาแห่งนางทั้งสองก็มีบุตรแลธิดาต่อๆ กันไป
          เวตาลเล่ามาเพียงนี้ก็หยุดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วกล่าวต่อไปว่า
               “บัดนี้ข้าพเจ้าจะตั้งปัญหาทูลถามพระองค์ว่า ลูกท้าวจันทรเสนที่เกิดจากธิดาท้าวมหาพลแลลูกมเหสีท้าวมหาพลที่เกิดกับพระราชบุตรท้าวจันทรเสนนั้น จะนับญาติกันอย่างไร”
               พระวิกรมาทิตย์ได้ทรงฟังปัญหาเวตาลก็ทรงตรึกตรองเอาเรื่องพ่อกับลูก แม่กับลูก แลพี่กับน้องมาปนกันยุ่ง แลมิหนำซ้ำมีเรื่องแม่เลี้ยงกับแม่ตัว แลลูกสะใภ้กับลูกตัวอีกเล่า
          พระราชาทรงตีปัญหายังไม่ทันแตก พอทรงนึกได้ว่าการพาเวตาลไปส่งให้แก่โยคีนั้นจะสำเร็จได้ก็ด้วยไม่ทรงตอบปัญหา จึงเป็นอันทรงนิ่งเพราะจำเป็นแลเพราะสะดวก ก็รีบสาวก้าวทรงดำเนินเร็วขึ้น
          ครั้นเวตาลทูลเย้าให้ตอบปัญหาด้วยวิธีกล่าวว่าโง่ จะรับสั่งอะไรไม่ได้ ก็ทรงกระแอม
          เวตาลทูลถามว่า
               “รับสั่งตอบปัญหาแล้วไม่ใช่หรือ”
               พระราชาไม่ทรงตอบว่ากระไร เวตาลก็นิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วทูลถามว่า
               “บางทีพระองค์จะโปรดฟังเรื่องสั้นๆ อีกสักเรื่องหนึ่งกระมัง”
               ครั้งนี้แม้กระแอม พระวิกรมาทิตย์ก็ไม่ทรงกระแอม เวตาลจึ่งกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า
               “เมื่อพระองค์ทรงปัญญาเพียงนี้แล้ว บางทีพระราชบุตรซึ่งทรงปัญญาฉลียวฉลาดจะทรงแก้ปัญหาได้บ้างกระมัง”
               แต่พระธรรมธวัชพระราชบุตรนิ่งสนิททีเดียว

2. ความพอเพียง
               คำว่า พอเพียง หมายถึง ความมีพอสำหรับดำรงชีวิต เช่น เขาใช้ชีวิตแบบพอเพียง มีการส่งเสริมระบบการผลิตแบบพอเพียงที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ดังเช่นที่คนไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตในยามที่ประเทศประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจใน พ.ศ.2540 โดยรัฐบาลได้น้อมนำเอาปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นวาระแห่งชาติในการพัฒนาชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง
               “ ความพอเพียงนี้หมายถึงความพอประมาณ มีเหตุมีผล การเดิน สายกลาง รวมถึงความจำเป็นที่ต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีต่อการรับผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน…ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบคอบ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันก็จะ ต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ… คือ คุณธรรม”
               คำว่า “พอเพียง” จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเต้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ธันวาคม พ.ศ. 2541 ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา พระราชทานความหมายของคำว่า “พอเพียง” ไว้ว่า
“…คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่า พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้แผลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเอง…”
3. ความมีวินัย
              วินัย หมายถึง ระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ สำหรับควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ของคนในสังคมให้เรียบร้อยดีงาม เป็นแบบแผน อันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้อยู่ร่วมกันด้วยความสุขสบาย ไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน  วินัยช่วยให้คนในสังคมห่างไกลจากความชั่วทั้งหลาย การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า ถ้าขาดระเบียบวินัย ต่างคนต่างทำตามอำเภอใจ ความขัดแย้งและลักลั่นก็จะเกิดขึ้น ยิ่งมากคนก็ยิ่งมากเรื่อง ไม่มีความสงบสุข  การงานที่ทำก็จะเสียผล
          ดอกไม้จำนวนมากที่วางรวมกัน หากวางอยู่ระเกะระกะกระจัดกระจาย ก็จะด้อยค่าลง  ทั้งยังทำให้รกรุงรังอีกด้วย แต่เมื่อเรานำดอกไม้เหล่านี้มาร้อยรวมเข้าด้วยกันด้วยเส้นด้าย ดอกไม้เหล่านี้ก็จะกลายเป็นพวงมาลัยอันงดงาม เหมาะที่จะนำไปประดับตกแต่งให้เจริญตาเจริญใจ ถ้าประชาชนแต่ละคนเป็นเสมือนดอกไม้แต่ละดอก เส้นด้ายที่ใช้ร้อยดอกไม้ให้รวมกันยู่ออย่างมีระเบียบงดงามนั้นก็เปรียบเสมือนวินัย
วินัยจึงเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมคน  ให้คนเราใช้ความรู้ความสามารถไปในทางที่ถูกที่ควร  คือทำคนให้เป็นคน “ฉลาดใช้” นั่นเอง

4. ความกตัญญู
          ความกตัญญู หมายถึง คุณธรรมที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ ในสังคมมนุษย์ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ชีวิตด้านกายภาพดำรงอยู่ได้เพราะได้รับอุปการะเลี้ยงดูจากบุคคลต่างๆ มีบิดามาดา ครูอาจารย์ ญาติพี่น้อง เป็นต้น นอกจากนั้น ต้องพึ่งอาศัยสิ่งเหล่าอื่นอีก เช่น อาศัยปัจจัย ๔ เป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตจึงจะอยู่รอดได้ ในส่วนจิตใจมนุษย์ก็ได้รับการปลูกฝังอบรมคุณลักษณะคุณค่าทางจิตใจจากบุคคลอื่น มีบิดามารดา เป็นต้น ให้มีทัศนคติ ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม อันเป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิตให้มีความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของมนุษย์ ความกตัญญูนี้ เป็นคุณธรรมที่มนุษย์พึงปฏิบัติมิใช่เฉพาะต่อมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่ให้มี่แม้แต่ต่อสัตว์และพืชทั้งหลายด้วย
          ความกตัญญู เป็นการกระทำความดีอย่างหนึ่งที่พึงปรารถนาของทุกคน ที่มีความกตัญญู ย่อมจะทำตนเองให้มีความสุขและทำผู้อื่นให้มีความสุขด้วย จากการศึกษาพบว่าพระพุทธศาสนากล่าวยกย่องบุคคลที่มีความกตัญญู และให้ความสำคัญต่อบุคคลผู้มีความกตัญญูว่าเป็นบุคคลที่หาได้ยากในโลก พระพุทธองค์ตรัสว่าบุคคลที่หาได้ยากมี 2 จำพวกได้แก่
          1. บุพพการี ผู้ทำอุปการะก่อน
          2.กตัญญูกตเวที ผู้รู้อุปการะที่เขาทำแล้วตอบแทน
          บุพพการีบุคคล กับ กตัญญูกตเวทีบุคคล คือบุคคลที่มาคู่กันเสมอ เพราะมีผู้ทำอุปการะก่อนจึงมีผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทนและเป็นบุคคลที่หาได้ยาก เพราะว่าหมู่สัตว์ส่วนใหญ่ถูกอวิชชาครอบงำ ยากที่จะมองเห็นคุณค่าของบุคคลอื่นได้
          อย่างไรก็ตาม คำว่ากตัญญูกตเวที เป็นคำที่มาด้วยกัน เมื่อกล่าวถึงความกตัญญู ก็ต้องกล่าวถึงกตเวทีไปโดยปริยาย เพราะในทางปฏิบัติคุณธรรม 2 ข้อนี้ไม่สามารถแยกจากกันได้
          เมื่อกล่าวโดยสรุป ความกตัญญูก็คือ ความรู้และการยอมรับในบุญคุณของบุคคล สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ที่มีต่อตัวเราทั้งทางตรงและทางอ้อม กตเวที คือ พยายามกระทำตอบด้วยการทดแทนพระคุณ ช่วยเหลืออุปการะ ยกย่อง บำรุง รักษาให้คงอยู่ในสภาพที่ดีงาม เพื่อความสงบสุขของสังคม และเพื่อความสมดุลทางธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

5. ความซื่อสัตย์
          ซื่อสัตย์ ประกอบด้วยคำว่า ซื่อ แปลว่า ตรง และ สัตย์ แปลว่า จริง ซื่อสัตย์ หมายถึง ประพฤติตรงโดยยึดถือความจริง ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง  ไม่ปิดบังอำพรางสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่ปั้นน้ำเป็นตัว เช่นสื่อมวลชนต้องเสนอข้อเท็จจริงอย่างซื่อสัตย์  นักวิจัยที่ดีต้องซื่อสัตย์ ไม่บิดเบือนผลการวิจัยเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น. นอกจากหมายถึงประพฤติตรงโดยยึดถือความจริง แล้วซื่อสัตย์ ยังใช้ในความหมายว่าไม่คดโกง ไม่ฉ้อราษฏร์บังหลวง เช่น คุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของข้าราชการ ได้แก่ความซื่อสัตย์ กล่าวคือ การทำงานแบบตรงไปตรงมา ไม่คดโกง ไม่แสวงหาผลประโยชน์อย่างไร้คุณธรรม.นอกจากนั้น ซื่อสัตย์ ยังหมายถึง ไม่หลอกลวง เช่น ชีวิตสมรสจะมีปัญหาหากคู่สมรสไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน

6. พุทธวจนะสุภาษิต
          พุทธวจนะ ไม่ใช่คำที่หมายถึงธรรมข้อใดใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์แต่เป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่เพื่ออธิบายถึง "ธรรมที่มาจากพระโอษฐ์โดยตรงของพระพุทธเจ้า" เช่น ธรรมที่พระอานนท์ได้ยินมาจากพระพุทธเจ้าตรัสโดยตรงธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสโดยตรงสู่ผู้อื่น ฯลฯ เป็นการตรัสโดยตรงไม่ผ่านตำราใดๆ ไม่ผ่านผู้อื่นใด แต่ยังมิใช่ธรรมแบบ “จิตสู่จิต” (ธรรมแบบจิตสู่จิต อธิบายเป็นคำพูดผ่านวจนะภาษาไม่ได้) ทว่าภายหลังได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก และมีการบันทึกเป็นตำราคัมภีร์ต่างๆ จึงมีบางท่านแยกแยะตำราบางส่วนที่ตนมีความคิดเห็นส่วนตัวว่า มีความคล้ายคลึงหรือน่าจะตรงคำ “พุทธวจนะ” แล้วได้คัดแยกออกมาเป็นส่วนต่างหาก ที่เรียกกันว่า “พุทธวจนะ” บ้าง “ธรรมจากพระโอษฐ์” บ้าง แท้แล้วธรรมเหล่านี้ มิใช่ธรรมจากพระโอษฐ์หรือพุทธวจนะจริงๆ แต่เป็น “ธรรมจากตำรา” ที่มีผู้คิดเห็นกันเองว่าน่าจะมีความใกล้เคียงกับ “พุทธวจนะ” มาก จึงเรียกกันว่า “พุทธวจนะ” ทั้งๆ ที่ไม่ใช่พุทธวจนะ เพราะไม่ใช่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาโดยตรงจากพระพุทธเจ้า แต่เป็น “ธรรมจากตำรา” ที่ผู้อ่านมีความคิดเห็นส่วนตัวว่าน่าจะใกล้เคียงกับพุทธวจนะมากที่สุดนั่นเอง
          ปัจจุบัน มีการอ้างอิง “พุทธวจนะ” มาใช้ในการเผยแพร่ธรรม เพื่อให้แตกต่างจากการเผยแพร่ธรรมของผู้อื่น เพื่อให้เห็นว่าผู้เผยแพร่ธรรม พิเศษกว่าผู้อื่น เนื่องจากเป็น “พุทธวจนะ” ส่วนผู้อื่นที่เผยแพร่ มิใช่พุทธวจนะ อีกทั้งยังมีการตั้งสำนักของตนให้แตกต่างไป มีหมู่สงฆ์เข้าร่วม มีแนวทางที่แตกต่างออกไปจากเดิม ซึ่งเป็น "การแตกหน่อแตกกอ" เป็นสายธรรมใหม่ แม้มิได้ตั้งขึ้นเป็นลัทธินิกาย แต่ก็ก่อให้เกิดความแตกแยก แตกต่างในหมู่สงฆ์ ซึ่งจะเข้าข่ายกลายเป็น “สังฆเภท” ได้ ในที่สุดแม้ว่าจะปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบเพียงใด แต่หากปฏิบัติแตกต่างออกไป และไม่ใช่ทางนิพพานเหมือนแต่เก่าก่อน ก็เข้าข่ายสังฆเภทได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น